สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควทท.)
Council of Science Dean of Thailand

การก่อตั้งสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

 

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ของที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
เรื่อง การก่อตั้งสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ดาวน์โหลดเอกสาร


บันทึกข้อตกลงนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยมีคณบดีซึ่งเป็นสมาชิกที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ตามรายชื่อท้ายบันทึกข้อตกลงนี้ ได้ตกลงร่วมกันทำขึ้น มีข้อความดังต่อไปนี้

ความสำคัญและเหตุผลความเป็นมา

เป็นเวลากว่า 29 ปีที่คณบดีคณะวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศตระหนักถึงความสำคัญวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย "ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย" นับตั้งแต่ พ.ศ. 2530 โดยมีองค์ประชุมประกอบด้วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง 28 หน่วยงาน และคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยมีการจัดประชุมทุกๆ 2 เดือน อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด วัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุม คือ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาการทำกิจกรรมในประเด็นที่สนใจร่วมกันเพื่อผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพและสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูงให้กับประเทศ รวมทั้งเพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ การรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตบัณฑิต การผลิตกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า ด้านการวิจัยของประเทศเป็นต้น ผลงานเด่นที่ประสบผลสำเร็จของที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2547 โครงการก่อตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 โครงการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) 2544-2551 โครงการปรับเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์ฯ โครงการ วมว. ในปีงบประมาณ 2553-2555 โครงการทบทวนและพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 2554 เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศมีความต้องการกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพและมีคุณภาพสูง รวมทั้งความต้องการองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และเกิดเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรม อันเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่ประเทศไทยใหม่ที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของคณะวิทยาศาสตร์ที่เป็นสมาชิกและเพื่อเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาและวิจัยสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบ และพันธะผูกพันร่วมกันในการสร้างคุณค่าและประโยชน์จากการดำเนินงานของเครือข่ายต่อเป้าหมายรวมสุดท้ายในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยจึงมีมติร่วมกัน ทำข้อตกลงความร่วมมือก่อตั้งสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยมีมติร่วมกันก่อตั้งและเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ข้อ 2 สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งตามข้อ 1 เป็นองค์กรความร่วมมือของคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์และการดำเนินการตามธรรมนูญสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้

ข้อ 3 เมื่อสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้รับการก่อตั้งและเริ่มต้นดำเนินงานตามวัตถุประสงค์แล้วให้ยกเลิกที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยให้ถือว่าบรรดามติที่ประชุมและการดำเนินการทั้งปวงของที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยที่มีอยู่ก่อนวันที่ก่อตั้งสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นมติหรือการดำเนินการของสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้สมาชิกที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้อ่านและให้ความเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว จึงได้ลงนามไว้เป็นหลักฐาน โดยมีคณะที่ปรึกษาที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยลงนามเป็นสักขีพยาน

© สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควทท.) พัฒนาโดย © 2019 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปรับปรุงล่าสุด: 11 พฤษภาคม 2561

Creative Commons License